สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา
ตัวอย่างรายวิชา
   
   
     
 
ชื่อปริญญาและอักษรย่อ
   

ชื่อเต็ม (ไทย) : วิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
ชื่อย่อ (ไทย) : วท.บ. (เทคนิคการแพทย์)
ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Bachelor of Science (Medical Technology)
ชื่อย่อ (อังกฤษ) : B.Sc. (Medical Technology)

ปรัชญา
         หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ มุ่งบัณฑิตที่มีความรู้และ ทักษะวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถคิด วิเคราะห์ ค้นคว้าวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมเพื่อนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและทัดเทียมมาตรฐานสากล
ความสำคัญของหลักสูตร
         สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งตัวอย่างทางการแพทย์ ตลอดจนการเก็บสิ่งตัวอย่างจาก อาหาร น้ำ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของมนุษย์และชุมชน โดยการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรายงานผลการตรวจ ตลอดจนการให้คำปรึกษา เพื่อการวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค หรือเพื่อการประเมินภาวะสุขภาพ การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการสาขาต่างๆตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ เช่น วิทยาศาสตร์การบริการโลหิต โลหิตวิทยา จุลทรรศนศาสตร์คลินิก เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก จุลชีววิทยาคลินิก ปรสิตวิทยา พิษวิทยา นิติวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุล มนุษย์พันธุศาสตร์ เซลล์พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ การทดสอบทางสรีรวิทยา เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ระดับยาและสารเคมี และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐานวิชาชีพ มีการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการและในชุมชน
  วัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ ดังนี้
 
  1. มีคุณธรรมจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  2. มีความรู้ในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถค้นคว้าและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อพัฒนางานในวิชาชีพ การวิจัย และการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น
  3. สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ แสวงหาความรู้ พัฒนาตน และพัฒนางาน
  4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานเป็นทีมกับสหวิชาชีพและชุมชน
  5. มีทักษะด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การวิเคราะห์เชิงตัวเลข
  6. สามารถบูรณาการความรู้ภาคทฤษฎีกับการปฏิบัติในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์
  หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณทิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการต่างๆ ดังนี้
 
  • หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565 ปรับปรุงจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2560 กำหนดเปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป
  • ได้รับอนุมัติ/เห็นชอบจากสภาวิชาการวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564
  • ได้รับอนุมัติ/เห็นชอบจากสภาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564
  • สภาเทคนิคการแพทย์ให้การรับรองหลักสูตร และเห็นชอบความเหมาะสมในการเปิดสอน ในการประชุมสภาเทคนิคการแพทย์ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 (หนังสือที่ สทนพ.11.094/2565)
  • หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559 ปรับปรุงจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2555 กำหนดเปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
  • ได้รับอนุมัติ/เห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการในการประชุมครั้งที่ 2/2559 วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559
  • ได้รับอนุมัติ/เห็นชอบจากสภาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 1/2559 วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559
  • สภาเทคนิคการแพทย์ให้การรับรองหลักสูตร และเห็นชอบความเหมาะสมในการเปิดสอน ในการประชุมสภาเทคนิคการแพทย์ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 (หนังสือที่ สทนพ.11.071/2560)
  • ได้รับอนุมัติ/เห็นชอบจากสภาวิทยาลัย (ครั้งที่สอง) ในการประชุมครั้งที่ 4/2559 วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560
  นิยามอาชีพ
         นักเทคนิคการแพทย์ (Medical technologist หรือ Medical laboratory technologist หรือ Medical Laboratory Scientist) เป็นวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์หรือ ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ไว้ว่าเป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งตัวอย่างทางการแพทย์ และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย และการรายงานผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค หรือเพื่อประเมินภาวะสุขภาพ และใช้คำนำหน้านามว่า ทนพ.หรือ ทนพญ. นำหน้าชื่อสกุลได้
  อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
 
  1. นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในภาครัฐ และเอกชน
  2. นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย
  3. พนักงานขายเครื่องมือ อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์
  4. ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจสุขภาพทางด้านเทคนิคการแพทย์
  คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
 
  1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญแผนการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
  2. มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นโรคตาบอดสีขั้นรุนแรง ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง อันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
  3. มีคุณสมบัติอื่นๆตามที่วิทยาลัยนครราชสีมากำหนด
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
         เป็นไปตามระเบียบการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ/หรือโดยการคัดเลือกตามที่วิทยาลัยนครราชสีมากำหนด
ระยะเวลาในการศึกษา
    4 ปีการศึกษา
 
   
 
     
  คณะสหเวชศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา
    290 หมู่ 2 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทรศัพท์ 044 466050 ต่อ 161
อีเมล: ahs@nmc.ac.th
     
   
 
 
  จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม
0025003